“อยู่แบบตายผ่อนส่งกันไป” เสียงจาก ‘ห้วยน้ำพุ’ 23 ปีของการต่อสู้เพื่อสายน้ำแห่งชีวิตกับชัยชนะที่พร่ามัว

ที่ไหนมีน้ำที่นั้นย่อมมีชีวิต เช่นเดียวกับตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตผูกพันกับ ‘ห้วยน้ำพุ’ แหล่งน้ำธรรมชาติสำคัญที่ไหลผ่านตำบลน้ำพุก่อนลัดเลาะผ่านอีกหลายตำบลเพื่อไปบรรจบกับลำน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง แหล่งน้ำดิบสำคัญในภูมิภาคตะวันตกของประเทศไทย

ตามตำนานที่มีการเล่าสืบต่อกันมากล่าวว่า ชื่อตำบลน้ำพุนี้ มาจากการที่ตาน้ำพุดขึ้นมาจากดิน ทำให้ชาวบ้านมีน้ำดื่มน้ำใช้ มีแหล่งอาหารหล่อเลี้ยงชีวิต จึงได้เรียกขานชุมชนบริเวณนี้ว่า ‘น้ำพุสามกะลา’ ก่อนที่ต่อมาจะกร่อนเสียงคำให้สั้นลงและกลายเป็น ‘น้ำพุ’ ดังปัจจุบัน [1]

ภายใต้ท้องฟ้ามืดครึ้มที่ปกคลุมด้วยเมฆก้อนใหญ่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 เราเดินทางจากกรุงเทพมหานคร เพื่อมุ่งสู่ตำบลน้ำพุ ระหว่างสองข้างทางเป็นที่ลาดเชิงเขารายล้อมด้วยพืชไร่ พืชสวน ทุ่งนา ลำห้วยและหนองน้ำ คั่นสลับระหว่างบ้าน วัด โรงเรียนและตลาด คุณลุงกลุ่มหนึ่งกำลังเตรียมดินเพาะปลูก วัวสายพันธ์หนึ่งกำลังกินหญ้าบนทุ่งสีเขียว ภาพที่เห็นเป็นไปตามคำนิยามของชุมชนเกษตรกรรม

หากแต่เป้าหมายในการออกเดินทางครั้งนี้ อาจขัดแย้งกับความเงียบสงบที่เห็นอยู่ตรงหน้า เพราะเรามาที่ตำบลน้ำพุแห่งนี้ เพื่อเรียนรู้เรื่องราวมหากาพย์กว่าสองทศวรรษของ ‘นักสู้พลเมือง’ ในพื้นที่ที่อากาศและสายน้ำปนเปื้อนไปด้วยสารพิษจากโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย

แม้เหล่านักสู้ร่วมกัน ‘กัดฟันสู้’ จนได้รับชัยชนะจากกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ไม่ทำให้พวกเขาเข้าใกล้ความยุติธรรม อีกทั้งหนทางในการเยียวยาบาดแผลจากความไม่เป็นธรรมกลับยังดูไกลห่างและเลือนราง

สภาพอากาศที่ดูไม่สดใสคล้ายสัญญาณกระซิบบอกเราว่า ให้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือ เพราะอาจเปียกปอนไปด้วยเม็ดฝนสารเคมีและหยาดเหงื่อหยดน้ำตาของใครหลายคนในพื้นที่แห่งนี้

1
ลำไยที่เคยหวานฉ่ำกลับออกรสขมขื่น เมื่อน้ำเปื้อนพิษ

เราถึงที่หมายช่วงสายของวันและเริ่มต้นตามรอยบทเรียนของนักสู้พลเมืองจากสวนลำไยแห่งหนึ่งที่ไม่มีผลลำไยเลยแม้แต่ลูกเดียว

“เรารู้ว่าน้ำมีสารเคมีตอนที่ฝนตกหนักเมื่อปี 2544 น้ำในห้วยมีฟองสีขาวสูงประมาณเมตรห้าสิบ เห็นแล้วตกใจ เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน หลังจากนั้นได้กลิ่นเหม็นและมีอาการคันเมื่อไปโดนน้ำ เลยไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านและจังหวัดให้มาตรวจสอบ สุดท้ายก็รู้ว่าฟองเกิดจากน้ำที่ไหลจากโรงงานลงมา” ธนู งามยิ่งยวด อดีตเกษตรกรเจ้าของสวนลำไยเล่าย้อนให้เราฟังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของห้วยน้ำพุที่พลิกผันชีวิตของเขาและชาวบ้านอีกหลายคนจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ชาวบ้านที่นี่ยืนยันกับเราว่าพวกเขาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกตษตรกรเป็นรายได้หลัก ปลูกพืชผัก เช่น ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ พริก เห็ดหูหนู และพืชไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง ซึ่งไม้ผลเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญ โดยเฉพาะลำไยที่เป็นสินค้าออกสำคัญของตำบล เกษตรกรตำบลน้ำพุปลูกลำไยมานานกว่า 60 ปี และได้ผลผลิตที่ดีเรื่อยมา อีกทั้งยังเป็นพื้นที่แรกของจังหวัดราชบุรีที่สามารถส่งออกลำไยไปขายต่างประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย [1]

ธนู งามยิ่งยวด

“เดิมเลยน้ำที่นี่ดีและอุดมสมบูรณ์มาก มีปลาและผักที่กินได้ เราลงไปอาบทุกวัน เอาน้ำมาทำให้ตกตะกอนและหุงข้าวดื่มกิน ใช้น้ำตรงนี้ทำการเกษตรมาตลอด” ธนูกล่าว เช่นเดียวกับชาวบ้านส่วนใหญ่ในตำบลน้ำพุซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน ธนูเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ใช้ประโยชน์จากน้ำในห้วยน้ำพุเพื่อประกอบการทำสวนลำไยของเขากว่าร้อยไร่ ซึ่งเคยให้ผลผลิตและส่งออกต่างประเทศด้วยคุณภาพการรับรองมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร (GAP) จนทำรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งถึงสองล้านบาทต่อปี

แต่ภายหลังปี 2543 วิถีชีวิตของชาวบ้านและธนูก็เปลี่ยนไป เมื่อมีโรงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเข้ามาดำเนินการโดยมีพื้นที่ชิดติดกับต้นน้ำของห้วยน้ำพุและอยู่สูงกว่าพื้นที่เกษตร ห่างจากสวนลำไยของธนูเพียงสี่ร้อยเมตร ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญกับกลิ่นเหม็นและการรั่วไหลของสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมของชุมชน สารเคมีเหล่านี้จึงเข้าไปอยู่ในที่ดินทำกิน แหล่งน้ำสำคัญ และร่างกายของชาวบ้าน

“ต้องเลิกทำหมดเลย ตอนนี้รายได้เหลือศูนย์บาท ขายทรัพย์สินที่มีอยู่เอามาดำรงชีพ” ‘สิ้นเนื้อประดาตัว’ คือคำที่ธนูใช้บอกเล่าชีวิตตัวเองในวัย 68 ปี

ห้วยน้ำพุถูกประกาศห้ามใช้อย่างเป็นทางการในปี 2560 เพราะแหล่งน้ำที่ชาวบ้านเคยผูกพันแห่งนี้กลายเป็นแหล่งสารเคมีที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้าน พืชพันธุ์เสียหายและถูกตัดออกจากมาตรฐานการรับรองสินค้าเกษตร โดยเฉพาะ ‘ลำไย’ พืชเศรษฐกิจส่งออกหลัก บางต้นที่ปลูกมาหลายสิบปีต้องยืนต้นตาย บางส่วนที่รอดก็นำมาขายได้ในราคาต่ำกว่าเดิมมาก สวนลำไยของธนูก็เช่นกัน

“นี่ไง รอยยังไม่หาย เพราะใช้น้ำที่ห้วย” ธนูถลกขากางเกงให้เราดูรอยแผลไหม้บนผิวหนัง

ต้นลำไยของธนูยืนต้นตายมากกว่าร้อยต้น ในปี 2560

“เคยพยายามแก้ไขปัญหาตัวเองก่อน ระหว่างที่รอรัฐมาช่วย เพราะมันรอไม่ได้” นอกจากรอยแผลที่ขา ธนูยังชี้ให้เราดูร่องรอยของความพยายามสารพัดวิธีในสวนลำไยแห่งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาและทดแทนรายได้ทางการเกษตรที่เสียไป ทั้งการหาแหล่งน้ำใหม่ลงทุนขุดเจาะน้ำบาดาลเองเกือบล้านบาทแต่น้ำที่ได้กลับยังปนเปื้อนสารเคมีเช่นกัน การทำแปลงปลูกพืชเพื่อดูดซับสารพิษและฟื้นฟูลำห้วยน้ำพุร่วมกับชุมชน การลงทุนเปลี่ยนสวนลำไยเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว ทำสนามเสือภูเขาสำหรับกีฬาวิบาก แต่เปิดใช้บริการได้ครั้งเดียวโควิดก็มา ทำให้ขาดทุนและต้องหยุดไป

สนามเสือภูเขาในสวนลำไยของธนู

บัวดูดซับสารพิษในสวนลำไยของธนู

2
การมาของ “เพื่อนบ้าน” ผู้พลิกวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนไปตลอดกาล

จากเรื่องราวในสวนลำไยของธนู ยิ่งทำให้เราอยากเข้าใจมหากาพย์ที่เกิดขึ้นมานานกว่ายี่สิบสามปี เราจึงนัดหมายกับเครือข่ายผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้ของชาวบ้าน เพื่อพาเราย้อนมองถึงต้นตอและพัฒนาการของปัญหา

ที่ศาลาประชาคมหมู่ 1 ตำบลน้ำพุ ไม่ไกลจากสวนลำไยของธนู ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกำลังช่วยกันติดป้ายไวนิลที่ร้อยเรียงภาพบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เราค่อยๆเดินตามรอยเส้นทางของนักสู้ในพื้นที่แห่งนี้

“รัฐบาลสนับสนุนนโยบายการรีไซเคิล อนุญาตให้เอาของเสียอันตรายไปรีไซเคิลได้ แต่เรื่องการกำกับควบคุมดูแลกระบวนการรีไซเคิลยังมีปัญหาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ในขณะเดียวกัน บริษัทที่เป็นต้นกำเนิดของขยะอันตราย ต้องส่งไปกำจัดยังบริษัทที่มีใบอนุญาต 101 105 106 ซึ่งหากทำตามกระบวนการแบบถูกต้องจะมีราคาสูง นำมาซึ่งธุรกิจเกรดต่ำ มีการตัดราคาให้ถูกลง แต่ของไม่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลจริง ไม่มีต้นทุน จึงเป็นการเอามาแล้วเอาไปตุนไปถมไปทิ้งไปเท” ดาวัลย์ จันทรหัสดี เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ภายใต้แผนงานมูลนิธิบูรณะนิเวศ หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางเล่าให้เราฟังถึงภาพใหญ่ของปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ดาวัลย์ จันทรหัสดี

ย้อนไปในปี 2543 บริษัทแวกซ์กาเบจ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ชื่อเดิม บริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพ้นท์ จำกัด คือโรงงานที่เข้ามาเป็นเพื่อนบ้านในพื้นที่ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง เดิมที่โรงงานแห่งนี้ดำเนินกิจการผลิตสีทาบ้านและแชมพู ซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อัดเศษกระดาษ เม็ดพลาสติก และเศษโลหะประเภทต่าง ๆ ก่อนจะมีการขยายโรงงานเพิ่มเติมอีกหลายครั้งเพื่อประกอบกิจการคัดแยก-ฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย และกิจการรีไซเคิลของเสียอันตราย

บริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์) ที่มา: https://www.earththailand.org/th/document/170

เพื่อนบ้านรายนี้ มีพื้นที่กว่าสามร้อยไร่ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเก้าใบ ซึ่งรวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทลำดับที่ 105 เพื่อประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตราย และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทลำดับที่ 106 เพื่อประกอบกิจการรีไซเคิลวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจากอุตสาหกรรม จำนวนห้าใบ

นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจากองค์การบริหารส่วนตำบลรางบัวด้วยเหตุผลด้านการจ้างงานในพื้นที่และรายได้จากการเก็บภาษีแล้ว ยังได้รับการรับรองจากอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรีในขณะนั้นว่าจะกำกับดูแลไม่ให้โรงงานก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย [1]

แต่ตลอดระยะเวลาที่โรงงานดำเนินกิจการกลับถูกร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ตำบลน้ำพุและตำบลรางบัวเรื่อยมา ทั้งปัญหาการปล่อยน้ำเสีย สารเคมีส่งกลิ่นเหม็น ฝุ่นละออง มลพิษจากเหตุเพลิงไหม้ไม่ต่ำกว่าแปดครั้ง การร้องเรียนเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับท้องถิ่น สวนกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี จนถึงการถวายฏีกา อีกทั้งชาวบ้านยังเคยรวมกลุ่มชุมนุมประท้วงหลายครั้ง นำไปสู่การตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ พบการฝ่าฝืนกฎหมายและความผิดปกติในหลายประการ แต่โรงงานกลับถูกลงโทษด้วยการเสียค่าปรับเป็นครั้งๆเท่านั้น และเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่สามารถยุติหรือแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ เช่น

  • ปี 2544 เมื่อเริ่มพบปัญหาครั้งแรกชาวบ้านได้ร้องเรียนไปยังกรมควบคุมมลพิษ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบและพบว่าโรงงานไม่แสดงใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกทั้งบ่อบัดน้ำเสียมีความเสี่ยงต่อมลพิษทางน้ำ
  • ปี 2545 ตรวจพบรางระบายน้ำทิ้งจากโรงงานออกสู่ลำห้วยน้ำพุ อีกทั้งพบว่ากิจกรรมของโรงงานก่อให้เกิดกลิ่นเหม็นจากสารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลาย
  • ปี 2549 ตรวจพบโลหะหนัก และ VOCs (โทลูจีน) ในแหล่งน้ำสาะธารณะและบ่อน้ำใช้ของประชาชน
  • ปี 2556 เกิดเพลิงไหม้ในโรงงาน พบน้ำในพื้นที่รอบโรงงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
  • ปี 2559 เกิดเพลิงไหม้ในโรงงาน พบน้ำใต้ดินมีค่า VOCs และโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาลยืนยันว่ามาจากโรงงาน และสาธารณสุขจังหวัดราชบุรีลงพื้นที่ตรวจสุขภาพของชาวบ้านพบว่ามีปัญหาสุขภาพ [2]

ตั้งแต่ 2544-2559 ที่เกิดความผิดปกติซ้ำซากข้างต้น ปีแล้วปีเล่าปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขและไม่มีข้อสรุปชี้ชัดอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานไหนว่าผลกระทบที่ชาวบ้านต้องเผชิญมาตลอดมีสาเหตุมาจากการประกอบกิจกรรมของเพื่อนบ้านรายนี้

ชาวบ้านตำบลน้ำพุชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดราชบุรี เรียกร้องให้แก้ไขปัญหามลพิษจากโรงงาน ปี 2556 (ภาพ: กานต์ ทัศนภักดิ์)
ที่มา: ห้หนังสือห้วยน้ำพุ บทบันทึกกรณีพิพาทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ระหว่างชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กับโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย

โรงงานไฟไหม้ ปี 2561 ที่มา: https://earththailand.org/th/article/6806

3
จากเสียงที่ไม่ได้ยิน สู่การต่อสู้ด้วยข้อมูลในคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มครั้งแรกของประเทศไทย

หลังเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงานตลอด 15 ปี แต่เสียงของชาวบ้านยังดังไม่พอ ทำให้ในปี 2560 ชาวบ้านเกือบทั้งตำบลน้ำพุ ตัดสินใจรวมตัวกันฟ้องร้องคดีแบบกลุ่มต่อศาลแพ่ง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ถือเป็นคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่ม (Environmental Class Action Lawsuit) ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย [3] โดยยื่นฟ้องบริษัทแวกซ์กาเบจฯ และกรรมการบริษัท ในข้อหาความผิดละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 จากการปล่อยปะละเลยให้เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายของสารเคมี ส่งกลิ่นเหม็นทางอากาศ และเกิดสารพิษแพร่กระจายโลหะหนักไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติมาตั้งแต่ปี 2544

“มีความท้อเหมือนกัน เราก็ไปมาหลายที่ สู้มาตั้งแต่ปี 2544 เดินไปก็เดินมาอยู่อย่างนั้นเข้าจังหวัดไปร้องผู้ว่า เราไม่ได้เก็บข้อมูลมันเลยไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงในตอนแรก ชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เลยต้องลงบันทึกว่าวันนี้น้ำเป็นยังไง ได้รับกลิ่นเหม็นหรือมีอาการเวียนหัวเมื่อไหร่ ต้องตรวจสุขภาพเพื่อหาสารเคมี ตอนเขามาตรวจเลือดกับปัสสาวะเรากับคนในบ้านหลานสามคนก็เกินค่ามาตรฐานกันหมด ถ้าไม่มีข้อมูลเราก็ฟ้องสู้เขาไม่ได้” นลิน เกษตรกรสวนลำไยวัย 65 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเล่าให้เราฟังถึงความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อใช้เป็นหลักฐานการฟ้องคดีในชั้นศาล เพราะโจทย์สำคัญที่ชาวบ้านต้องพิสูจน์ให้ได้คือการเก็บข้อมูลเพื่อเชื่อมโยงว่ามลพิษที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรงงาน อีกทั้งเพื่อนำไปใช้ต่อรองกับหน่วยงานรัฐในการเข้ามากำกับดูแล

นลินชี้ตัวเองในภาพที่ชาวบ้านรวมตัวยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งรัชาดา ปี 2560

“ชาวบ้านที่นี่เเข้มแข็ง เขาเดินขึ้นเขาลอมรั้วไปเฝ้าระวังและได้วิดีโอระหว่างที่รถแม็คโครในโรงงานกำลังลักลอบเอาสารเคมีลงพื้นดิน เราจึงเอาหลักฐานนำแถลงศาลขอให้สั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลจึงสั่งห้ามนำสารเคมีเข้า” ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความผู้เชี่ยวชาญคดีสิ่งแวดล้อม หนึ่งในทีมงานทนายที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านในการลงพื้นที่ตรวจสอบการปนเปื้อน เก็บตัวอย่างบันทึกการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและประสานความร่วมมือกับเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันกับเราว่าข้อมูลที่ชาวบ้านรวบรวมมาคือหลักฐานชิ้นสำคัญในทางคดี

โรงงานลักลอบทิ้งกากสารเคมีปนเปื้อนลงสู่พื้นดิน ปี 2561 ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/315748

ต่อมาในปี 2563 ศาลแพ่งตัดสินให้ชาวบ้านชนะคดี มีคำสั่งให้บริษัทแวกซ์กาเบจฯ และกรรมการบริษัท ร่วมกันชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านหนึ่งพันคน เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันสืบเนื่องจากการดำเนินกิจการของบริษัท รวมถึงให้จำเลยทั้งสองแก้ไขฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณพื้นที่ดินของโจทก์ คลองสาธารณะ จนกว่าจะกลับมามีสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน [4]

แต่สถานการณ์ดูกลับตาลปัตร แม้ชาวบ้านจะชนะในคดีนี้ แต่ความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนของมลพิษยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ของเสียอันตรายที่ฝังกลบอยู่ใต้ดินในโรงงานยังไม่เคยถูกนำไปกำจัด และชาวบ้านยังไม่ได้รับการเยียวยาค่าเสียหายที่ต้องได้รับแต่อย่างใด

กากอุตสาหกรรมที่ยังตกค้างในโรงงาน ภาพ: ปุณญธร จึงสมาน ที่มา https://earththailand.org/th/article/6806

4
ชัยชนะภายใต้ระบบยุติธรรมที่ถูกแช่แข็งและเย็นชา

“จริงๆ ถ้าพูดแล้วก็เหมือนสิ้นหวัง ในการทำคดีด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ท้ายที่สุดมันจะจบคล้ายๆ กันในทุกพื้นที่ คือ ไม่ได้เงิน ไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการฟื้นฟู ไม่ได้อะไรกลับมา นอกจากการลงทุน ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเข็ด เข็ดกับการใช้สิทธิ ถ้าทนายไม่ฟรีก็ไม่มีใครอยากฟ้อง ชาวบ้านไม่มีทุน วิธีการคิดค่าเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยากที่สุดที่ศาลจะมองเห็น ศาลไม่รู้ว่าจะกำหนดค่าเสียหายอย่างไร สุดท้ายศาลจบที่การใช้เกณฑ์ภัยแล้ง กลายเป็นว่าได้เยียวยาแค่ไรละประมาณพันกว่าบาท ภัยแล้งความเสียหายมันมาแล้วไปแต่ภัยสารเคมีมันอยู่มาตลอด เป็นอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมอย่างหนึ่ง” ชำนัญอธิบายให้เห็นภาพกระบวนการยุติธรรมไทยที่ยังไม่เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ชำนัญ ศิริรักษ์

“สุดท้ายมันควักกระเป๋าตัวเองจนหมด ทั้งการไปขึ้นศาลต่อสู้คดี ตั้งแต่ปี 2560 เราวางเงินตัวเองไว้ประมาณสองแสนสามหมื่นบาท บ่อบาดาลที่เจาะไปเป็นเงินเกือบล้าน แต่คำพิพากษาบอกว่าให้โรงงานรับผิดชอบและมาฟื้นฟู เรามองไม่เห็นภาพ ไม่เห็นแม้แต่เงาเหรียญ ใครจะมาฟื้นฟู” ธนูเล่าว่าได้ประเมินความเสียหายร่วมกับทีมทนายความเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากโรงงานไปเป็นเงินจำนวนสิบหกล้านบาท แต่ศาลมีคำพิพากษาให้โรงงานจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินจำนวนหกแสนบาท

นอกจากนี้ ระหว่างทางการต่อสู้เพื่อให้ถึงเป้าหมายการเยียวยาและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับธนูและชาวบ้านคนอื่นๆหลายครั้ง

“เห็นเราออกมาทำกิจกรรมชุมนุมร้องเรียน มาบอกว่าเรายุยงปลุกปั่นชาวบ้านให้เกิดความแตกแยกในชุมชน ให้ไปรายงานตัว เขาถามว่าคุณออกมาทำตรงนี้เพื่ออะไร เราอึ้งเลย มันเกิดความคิดว่าเราโดนสารเคมีมาตั้งแต่ปี 2544 ลูกเราพิการ ตอนนี้อายุ 38 ไปไหนไม่ได้ นอนดมสารเคมี นอนไม่ได้กินไม่ได้ พอคำถามนี้มาเลยย้อนกลับไปว่า เราเป็นพ่อคน ถ้าลูกคุณนอนดมสารเคมีทุกวัน ถามหน่อยว่าคนที่เป็นพ่อคนจะอยู่นิ่งๆ มั้ย” ในปี 2559 ธนูและอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลน้ำพุในขณะนั้น ถูกทหารใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรียกให้ไปรายงานตัวฐานยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความแตกแยกกรณีออกมาร้องเรียนเรื่องความเดือดร้อนที่โรงงานปล่อยน้ำสารเคมีปนเปื้อนใต้ดิน โดยเหตุการณ์ในวันดังกล่าวมีชาวบ้านจำนวนมากร่วมเดินทางไปให้กำลังใจและสนับสนุนทั้งสองคน [5]

ชาวบ้านรอให้กำลังใจธนูและอดีตนายก อบต. ที่ตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรี ปี 2559 ที่มาhttps://mgronline.com/local/detail/9590000050625

นอกจากนี้ ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่ธนูและชาวบ้านในพื้นที่อีกสี่คนถูกยัดเยียดให้เป็นภัยคุกคามต่อนายกรัฐมนตรีที่จะมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ราชบุรี โดยถูกหน่วยงานภาครัฐออกหนังสือประเมินภัยคุกคามภารกิจรักษาความปลอดภัย ทั้งที่ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรและไม่ได้คิดว่าจะเดินทางไปยื่นหนังสือเรื่องความเดือดร้อนกับนายกฯเลย

ธนูและชาวบ้านอีกสี่คนถูกออกหนังสือเป็นภัยคุกคามต่อนายกฯ ปี 2567 ที่มา https://ch3plus.com/news/social/weekend/399511

‘59 ล้านบาท’ คือ ราคาที่รัฐต้องนำงบประมาณของประเทศจ่ายไปก่อนเบื้องต้น เพื่อนำของเสียอันตรายอย่างน้อยกว่า 13,000 ตันออกจากโรงงานไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากตัวโรงงานเอง อ้างว่า ไม่มีศักยภาพที่จะนำของเสียอันตรายเหล่านี้ไปกำจัดได้ เพราะโรงงานล้มละลายไปแล้ว [6]

ปัจจุบันชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะการปนเปื้อนในช่วงที่ฝนตก ขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคและใช้ทำการเกษตร ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการดิ้นรนรับมือแก้ปัญหาที่ตัวเองไม่ได้ก่อ แต่รายได้กลับลดลงสวนทางหรือบางรายแทบไม่มี อย่างที่ธนูต้องขายทรัพย์สินเพื่อประทังชีวิตและครอบครัว

หากกล่าวให้ไกลกว่าบทเรียนราคาแพงของตำบลน้ำพุ เช่นเดียวกันกับข้อพิพาทระหว่างโรงงานกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ของประเทศไทยที่ล้วนเป็นหนังม้วนเดียวกัน การปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกาเคารพในสิทธิของชุมชนเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหลายรายละเลยและหลีกเลี่ยง วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนค่อยๆหายไป กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหยิบยื่นความเชื่อใจและเรียกคืนความเป็นธรรมที่กินได้ให้แก่ชุมชน นอกจากกระดาษคำสั่งศาล

รถตู้ของเราค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่ตำบลน้ำพุ และใช่ เป็นไปตามสัญญาณเตือนของท้องฟ้า ช่วงค่ำของวันนั้นฝนตกหนัก เมฆสีเทาเข้าปกคลุมสารพัดอารมณ์ความรู้สึกของผู้โดยสารที่อัดแน่นในคันรถ

เราหวนนึกถึงคำของนลิน “มันเป็นถิ่นกำเนิด เราจะไปไหนได้ ก็ต้องอยู่ที่นี่ คนที่ฟ้องสู้ก็ตายไปหลายคนแล้ว ก็อยู่แบบตายผ่อนส่งกันไป”

หนึ่งในทีมงานของเราพูดขึ้นมาในความมืดและเงียบงัน “รัฐปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร”

อ้างอิง

[1] ห้วยน้ำพุ บทบันทึกกรณีพิพาทด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ระหว่างชาว ต.น้ำพุ อ.เมือง และ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี กับโรงงานรีไซเคิลและฝังกลบของเสีย
[2] เส้นทางการต่อสู้ของ “ชาวน้ำพุ” ลำห้วยน้ำพุ จังหวัดราชบุรี
พลเมืองสู้มลพิษ เรื่องราวและบทเรียนของนักสู้พลเมืองในพื้นที่ประสบปัญหามลพิษ 6 แห่งของประเทศไทย
[3] สองปีคดีน้ำพุ ชัยชนะที่ไปไม่ถึงไหน และการฟื้นฟูที่ดูริบหรี่ สาเหตุและทางออกที่พอมีอยู่
[4] บทเรียนจากห้วยน้ำพุ การฟ้อง “คดีแบบกลุ่ม” คดีแรกของประเทศไทย
[5] พลเมืองสู้มลพิษ เรื่องราวและบทเรียนของนักสู้พลเมืองในพื้นที่ประสบปัญหามลพิษ 6 แห่งของประเทศไทย
[6] ปนเปื้อน เดอะซีรี่ส์ EP.1 คดีสิ่งแวดล้อม “มหากาพย์ 23 ปี”

Share this article: