“ฉันรู้สึกหดหู่ใจ ทุกข์ใจ ฉันไม่ต้องการพูดอะไรมาก” เมื่อสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรคือสิ่งสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก

เพราะหลายครั้ง ความไม่เป็นมิตรของกระบวนการยุติธรรม คือประตูบานใหญ่ที่ปิดกั้นโอกาสในการได้รับความเป็นธรรมของประชาชน เมื่อต้องโดนมองเป็นเพียงวัตถุพยานของคดีและถูกทำร้ายโดยกระบวนการซ้ำไปมา หากเป็นคุณ คุ้มหรือไม่ที่ต้องยอมแลก ?

แล้วยิ่งหากเขาเหล่านั้นเป็นเด็ก คุณพอนึกภาพความอ่อนไหวยามเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมออกหรือไม่ ?

ภายในตึกหน่วยงานราชการที่อัดแน่นด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาติดต่อร้องทุกข์ ขอความช่วยเหลือ บ้างได้นั่ง บ้างต้องยืน เสียงจอแจวุ่นวาย เจ้าหน้าที่ใส่เครื่องแบบครบชุดนั่งประจำการ พูดคุยภาษากฎหมายที่ฟังดูเข้าใจยาก มากไปกว่านั้นรู้สึกเหมือนถูกคนรอบข้างจับจ้องเงี่ยหูฟังอยู่ตลอดเวลา

เสียงของเด็กผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์ที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) [1] สะท้อนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะในบริบทของกระบวนการสอบสวนและสืบพยาน เด็กต้องเผชิญกับความเจ็บปวดและถูกทำร้ายซ้ำเติม (Re-Traumatize) ทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ความกลัว ความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความไม่มั่นใจ ความไม่เชื่อใจ รวมถึงความอับอาย สารพัดความเปราะบางเหล่านี้ มีสาเหตุสำคัญหนึ่งจาก “สภาพแวดล้อมของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นมิตร” ซึ่งล้วนส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด การให้ข้อมูลของเด็กและประสิทธิภาพในการแสวงหาและเชื่อมโยงข้อเท็จจริงในทางคดีของเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น

บทความนี้ จะพาไปสำรวจหน้าตาของสภาพแวดล้อมกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นการสอบสวนและสืบพยานที่สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย เป็นมิตร และเป็นที่พึ่งให้กับเด็กได้ พร้อมชวนเช็คลิสต์ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยยังตกหล่นข้อไหน ?

“คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ”
หัวใจหลักของการออกแบบสภาพแวดล้อมกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นมิตร

เด็กที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ไม่ว่าจะในฐานะผู้เสียหาย พยาน ผู้ถูกกล่าวหา หรือแม้กระทั่งถูกตัดสินแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิด ต้องได้รับการคุ้มครองป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยวิธีการที่ละเอียดอ่อน เคารพสิทธิศักดิ์ศรี และต้องคำนึงถึงความจำเป็นของเด็กที่มีความเปราะบางเฉพาะ ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการกระทำให้เด็กตกเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ โดยในทุกขั้นตอนตั้งแต่การให้ปากคำ การแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐาน ตลอดจนถึงการพิจารณาคดี จะต้องถือประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

ทั้งหมดนี้คือแนวคิดสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานของรัฐและผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและคุ้มครองป้องกันความรุนแรงต่อเด็กที่เข้ามาเกี่ยวของในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา [2]

กระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กในประเทศไทยได้ยึดหลักแนวคิดดังกล่าวเช่นกัน โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีวิธีพิจารณาความอาญา ฉบับที่ 26 พ.ศ. 2550 ได้กำหนดหลักการสำคัญของวิธีการสอบสวนและสืบพยานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี โดยให้นำมาตการที่เหมาะสมกับเด็กมาใช้ เช่น การถามปากคำหรือการสืบพยานในสถานที่ที่เหมาะสมกับเด็ก การให้มีการถามคำถามผ่านสหวิชาชีพ รวมถึงการบันทึกการถามคำพยานเด็กในชั้นสอบสวนไว้เป็นภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกมาถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำบันทึกสื่อภาพและเสียงคำให้การพยานเด็กในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาเสมือนหนึ่งพยานเด็กได้มาเบิกความเองในชั้นศาล [3]

CAC (Child Advocacy Center)
ต้นแบบจากสหรัฐฯ โมเดลการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับเด็กผู้เสียหาย

ตัวอย่างภาพสะท้อนแนวคิดการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กที่ชัดเจน คือ โมเดลของศูนย์ CAC (Child Advocacy Center) หรือศูนย์ช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก เป็นโมเดลการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะเด็กผู้เสียหายจากการถูกล่วงละเมิดด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ผ่านกระบวนการที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง (Child-Centric Approach) ความต้องการและความปลอดภัยของเด็กจึงได้รับการคำนึงถึงเป็นลำดับแรก

โดยศูนย์ CAC เป็นต้นแบบที่นำมาจากสหรัฐฯ เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือกันระว่างตำรวจและองค์กรไม่แสวงหากำไรในพื้นที่ชุมชน ซึ่งแต่ละรัฐจะต้องมีศูนย์ช่วยเหลือเด็กที่มีตำรวจประจำเช่นนี้อยู่ด้วย ต่อมาถูกใช้เป็นมาตรฐานการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กในหลายประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา และไทย (ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหากำไร ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี จ.ภูเก็ต จ.อุบลราชธานี และ จ.กาญจนบุรี) [4]

สภาพแวดล้อมของ “ระบบ” ที่เป็นมิตรกับเด็ก

ศูนย์ CAC ทำหน้าที่เป็น “พื้นที่ตรงกลาง” เชื่อมโยงองค์ประกอบที่สำคัญในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กเข้าไว้ด้วยกันในที่แห่งเดียว ทั้งด้านกระบวนการยุติธรรม สวัสดิการสังคม และสาธารณสุข เพื่อทำให้เด็กและครอบครัวสามารถเข้าถึงกระบวนการคุ้มครองช่วยเหลืออย่างสะดวกและครอบคลุมมากขึ้น ณ จุดเดียว (One Stop Service)

แนวคิดการทำงานของศูนย์ช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก (CAC)
ที่มา: https://www.nationalchildrensalliance.org/cac-model/

หนึ่งในบทบาทที่สำคัญคือการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจในกระบวนการสอบสวนเชิงคดี (Forensic Interview) ผ่านวิธีการสัมภาษณ์เพียงครั้งเดียว (หรือน้อยครั้งที่สุด) จากผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี ด้วยรูปแบบที่เป็นมิตรและละเอียดอ่อนกับเด็กผู้เสียหายทั้งเชิงกระบวนการและสถานที่ อีกทั้งเชื่อมโยงจัดการการทำงานร่วมกันระหว่างทีมสหวิชาชีพ (Case Management System) อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก และเจ้าหน้าที่จากองค์กร NGO เป็นต้น เพื่อทำให้การสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐานได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ และที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันการตอกย้ำบาดแผลในจิตใจเด็กจากการต้องตอบคำถามและเล่าเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญซ้ำเดิมหลายครั้ง โดยระหว่างกระบวนการตั้งแต่ในชั้นสอบสวนจนกระทั่งภายหลังจบคดีในชั้นศาล จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ CAC ดูแลให้คำปรึกษาและสนับสนุนให้เด็กและครอบครัวสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นด้านต่าง ๆ [5]

ขั้นตอนการสนับสนุนงานช่วยเหลือคุ้มครองของศูนย์ช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก (CAC)
ที่มา: https://forfreedominternational.com/th/projects/child-advocacy-center-phuket/

ห้องสอบสวน Twin Cedars Child Advocacy Centre ในรัฐ Alabama สหรัฐอเมริกา
ที่มา: https://www.twincedars.org/program/child-advocacy-center-inc/#prettyPhoto

สภาพแวดล้อมของ “พื้นที่” ที่เป็นมิตรกับเด็ก

หากมองย้อนกลับมาในประเทศไทย “ห้องสอบสวนเด็กในคดีอาญาของสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต” เป็นหนึ่งตัวอย่างโครงการต้นแบบที่สะท้อนภาพของการออกแบบสภาพแวดล้อมในพื้นที่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เป็นมิตรกับเด็ก โดยเบื้องหลังการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของศูนย์ CAC เช่นกัน จึงไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบสถานที่ที่มีบรรยากาศเป็นมิตรเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบเพื่อรองรับวิธีการสอบสวนตามเจตนารมณ์ของกฎหมายและมาตรฐานสากลด้วย

พื้นที่ห้องสอบสวนเด็กในคดีอาญาของสำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ตเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา ภายในพื้นที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน แยกจากพื้นที่คดีทั่วไปอย่างชัดเจน แต่ละห้องมีการออกแบบและตกแต่งโดยคำนึงถึงสภาพจิตใจและผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ ได้แก่

1) ห้องสำหรับสัมภาษณ์เด็ก ทั้งในฐานะผู้เสียหาย พยาน และผู้ต้องหา โดยกระบวนการจะประกอบด้วย เด็ก บุคคลที่เด็กร้องขอให้อยู่ด้วย และนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ มีหน้าที่สำคัญในการซักถาม คัดกรองคำถามที่อาจสร้างผลกระทบทางจิตใจต่อเด็ก ช่วยย่อยคำถามของพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพ (ซึ่งนั่งฟังอยู่อีกห้องหนึ่ง) ให้เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งสภาพแวดล้อม เช่น แสงไฟ สีภายในห้อง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ตกแต่ง ต้องให้ความรู้สึกปลอดภัย เกิดความไว้วางใจ อบอุ่น ผ่อนคลาย และมั่นคงทางอารมณ์ เพื่อให้เด็กสามารถเล่าสิ่งที่เผชิญหรือพบเห็นแก่เจ้าหน้าที่

2) ห้องเจ้าหน้าที่สำหรับติดตามพร้อมรับฟังการสัมภาษณ์แบบทันที ประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะรับฟังการสัมภาษณ์และจดบันทึกตามคำให้การของเด็ก ผ่านกล้องและไมค์ที่ติดเอาไว้ในห้อง เจ้าหน้าที่สามารถถามผ่านหูฟังของเจ้าหน้าที่ที่อยู่กับเด็กได้ทันที ซึ่งเด็กที่ถูกซักถามจะมองไม่เห็นคนถามและไม่ได้ยินคำถามที่มาจากเจ้าหน้าที่เด็กจะไม่ได้ยินคำถามเหล่านั้นโดยตรง ประเด็นสำคัญคือการมีอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียงที่มีประสิทธิภาพตลอดการสนทนา ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถนำมาวิเคราะห์ประกอบเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่มีน้ำหนักในชั้นศาลต่อไปและทำให้เด็กไม่ต้องตอบคำถามเดิมซ้ำๆ หลายรอบในระหว่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่ละขั้นตอนด้วย

3) ห้องชี้ตัวผู้ต้องหาแบบกระจกมองทางเดียว โดยติดตั้งให้เด็กสามารถมองผ่านเข้าไปในห้องและชี้ตัวผู้ต้องหาได้ แต่ผู้ต้องหาจะไม่สามารถมองเห็นเด็ก เพื่อป้องกันสภาพจิตใจความรู้สึกของเด็ก นอกจากนี้ ตามกระบวนการต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ พนักงานอัยการร่วมอยู่กับเด็กด้วยในการชี้ตัว

4) ห้องเตรียมพยาน เนื่องจากระยะเวลาของกระบวนการสอบสวนในคดีอาญาอาจใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน อีกทั้งกระบวนการฟ้องและนัดพิจารณาคดีอาจกินเวลาล่วงเลยนานเป็นปี ห้องเตรียมพยานจึงจัดตรียมไว้สำหรับการพูดคุยกับผู้เสียหายหรือพยานในเหตุการณ์ สำหรับเตรียมความพร้อม ซักซ้อมถึงเหตุการณ์จากช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ก่อนการขึ้นให้ปากคำในศาล

สภาพแวดล้อมของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับเด็กในประเทศไทย
ยังห่างไกลคำว่าเป็นมิตร ?

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมทั่วประเทศไทยจะเห็นว่ามีเพียงไม่กี่พื้นที่เท่านั้นที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับเด็กได้ แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยได้กำหนดหลักการสำคัญของวิธีการสอบสวนและสืบพยานเด็ก โดยให้นำมาตรการที่เหมาะสมกับเด็กมาใช้ แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เป็นไปตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ ทั้งรูปแบบวิธีการและสถานที่ ดังนี้

1. ไม่มีสถานที่สอบสวนและสืบพยานเด็กที่เหมาะสมในทุกจังหวัด โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการที่สถานีตำรวจซึ่งขาดพื้นที่ในการรองรับการทำคดีเด็กตั้งแต่ต้นในฐานะด่านแรก เด็กบางคนยังถูกสอบสวนหรือทำคำให้การที่โต๊ะรับแจ้งความของตำรวจ โดยมีผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย รวมถึงขาดแคลนอุปกรณ์สำหรับการบันทึกภาพและเสียงที่มีประสิทธิภาพ

2. เจ้าหน้าที่ขาดองค์ความรู้และมาตรฐานแนวทางปฏิบัติ (Standard Operating Procedure: SOP) ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพทางกายภาพและจิตใจตลอดจนหลักการสัมภาษณ์ในเชิงคดีสำหรับเด็ก โดยคุณภาพของพยานหลักฐานบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้พิพากษาต้องการความมั่นใจเพื่อพิจารณาเปิดในชั้นศาล แต่ปัจจุบันการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในชั้นการสืบพยานยังมีข้อท้าทายหลายประการ อาทิ แนวปฏิบัติและรูปแบบข้อคำถามในการสัมภาษณ์เด็ก การถามโดยชี้นำของเจ้าหน้าที่ และความถูกต้องตามข้อเท็จจริงของหลักฐาน เป็นต้น

3. กระบวนการยุติธรรมทำให้เด็กต้องเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำหลายครั้ง โดยพยานหลักฐานบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนหรือชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ยังไม่เป็นที่ยอมรับของศาลเท่าที่ควรและไม่ถูกใช้งานจริงในชั้นศาล ทำให้เด็กต้องถูกสอบปากคำอีกครั้งในชั้นศาล [6] อีกทั้ง ในปัจจุบันคำพิพากษาฎีกายังมีความไม่ชัดเจน และไม่ได้สนับสนุนเรื่องการรับฟังบันทึกภาพและเสียง

4. เด็กมีข้อจำกัดในการเข้าถึงกระบวนการคุ้มครอง เพราะขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงาน (Case Management System) ทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข และสังคม โดยเด็กและผู้ปกครองไม่ได้รับคำแนะนำถึงข้อมูลสิทธิความช่วยเหลือที่จำเป็น เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการมาสอบพยาน การดำเนินการในชั้นต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรม ทำให้ขาดความเข้าใจ เกิดความกังวลและไม่มั่นใจในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม [7]

ข้อท้าทายเหล่านี้สะท้อนว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาไทยยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย เชื่อใจ และเป็นที่พึ่งให้กับเด็กได้ การจะยกระดับให้กระบวนการยุติธรรมเป็นมิตรกับเด็กได้จริง ๆ จึงต้องมองให้ไกลกว่าแค่การบัญญัติหลักการไว้ในตัวบทกฎหมาย แต่ต้องออกแบบให้ทั้ง “ระบบ” และ “สถานที่” ของกระบวนการยุติธรรมมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการคุ้มครองป้องกันความรุนแรงต่อเด็กที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในทางปฏิบัติได้จริง ๆ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

อ้างอิง :

[1] รายงาน “Disrupting Harm in Thailand – Evidence on online child sexual exploitation and abuse”, UNICEF, February 21, 2022.
[2] ยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กในด้านการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา เป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานของรัฐและผู้ปฏิบัติงานทุกภาคส่วนในการรับประกันสิทธิขั้นพื้นฐานและคุ้มครองป้องกันความรุนแรงต่อเด็กที่เข้ามาเกี่ยวของในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
[3] พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฉบับที่ 26 มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี
[4] มีชัย สีเจริญ และคณะ, การวิจัยและพัฒนารูปแบบห้องสอบสวนเด็กและเยาวชนที่เหมาะสมในประเทศไทย (2020)
[5] National Children’s Alliance, Putting Standards into Practice: A Guide for Implementing the 2023 National Standards of Accreditation for Children’s Advocacy Centers, (2023). https://www.nationalchildrensalliance.org/wp-content/uploads/2021/10/2023-PSIP-BlueBook_v5_web.pdf
[6] อรวินท์ สุขกิจ และ รองศาสตราจารย์อัจฉรียา ชูตินันท์. บทบาทของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน : ศึกษากรณีการรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การพยานเด็กในชั้นพิจารณา. 2567; จาก บทบาทของศาลในการรับฟังพยานหลักฐาน:ศึกษากรณีการรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การพยานเด็กในชั้นพิจารณา (dpu.ac.th)
[7] ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยเพื่อยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้เป็นมิตรต่อเด็ก ผ่านการพัฒนาพื้นที่สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต ภายใต้ความร่วมมือของสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) สำนักงานอัยการจังหวัดภูเก็ต มูลนิธิฟอร์ฟรีดอมอินเตอร์เนชั่นแนล และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

Share this article: