เรื่องเล่าจาก ‘ผู้นำกระบวนการ’ ชุดเครื่องมือ GRIs กับภารกิจเพิ่มพูนทักษะทางจิตใจของเด็กด้วยจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)
เมื่อเราสร้างต้นทุนในการใช้อธิบายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในมุมมองใหม่ได้ การตีความโลกของเราก็เปลี่ยนไปด้วย
หัวใจสำคัญของนวัตกรรมชุดเครื่องมือพัฒนาทักษะการรู้คิดสำหรับเด็กและวัยรุ่น Growth and Resilience Interventions หรือ GRIs คือการนำกระบวนการของจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) เข้าไปเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ต้นทุนความเข้มแข็งทางจิตใจของเด็กให้งอกเงย พร้อมต่อการเผชิญหน้ากับความท้าทาย ทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์
โดย GRIs สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานกับเด็กได้ตั้งแต่ระดับเด็กกับเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล รวมไปถึงพื้นที่ที่ดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางหรือเด็กที่มีความเสี่ยงอยู่ในวงจรอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก ศาลเยาวชนฯ หน่วยงาน NGO และหน่วยงานภายใต้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น
บทความนี้จึงอยากชวนสำรวจประสบการณ์การทดลองใช้ชุดเครื่องมือ GRIs จากคุณภัสรัญ สระทองนวล หรือครูแก้ว คุณครูวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกำแพงแสนวิทยา จ. นครปฐม, คุณนวสร ลิ่มสกุล หรือพี่เดือน Safeguarding Consultant ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และคุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ Co-founder and Positive Psychology Specialist บริษัท ไลฟ์ เอ็ดดูเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มาเล่าสู่กันฟังในงานเสวนาวิชาการ “เด็กxความรุนแรง” ตกผลึกบทบาทของสังคมกับความรุนแรงในเด็ก จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
จาก ‘ครูแนะแนว’ สู่การเป็น ‘ครูผู้นำกระบวนการ’ การเรียนรู้ภายในใจ
“ผู้ใหญมักจะพูดว่าใจเย็นๆ ไม่มีอะไรหรอก ไม่ต้องโมโห แต่บางทีแค่คำพูดเรามันไม่พอ เราต้องช่วยให้เค้ารู้จักคำที่อธิบายสื่อสารอารมณ์ของตัวเองได้”
คุณภัสรัญ สระทองนวล หรือ ‘ครูแก้ว’ คุณครูแนะแนวที่มีประสบการณ์มากกว่า 16 ปี จากโรงเรียนกำแพงแสนวิทยา จ. นครปฐม เล่าให้ฟังว่าภารกิจส่วนใหญ่ของครูแนะแนวคือการให้คำปรึกษาเรื่องการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ และที่สำคัญที่สุดคือเรื่องชีวิตส่วนตัวและความสัมพันธ์กับสังคมของนักเรียน อย่างไรก็ตาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 เห็นได้ชัดว่าเด็กเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (learning loss) เผชิญปัญหาเครียดซึมเศร้า ไม่เข้าใจตัวเอง ไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ และปัญหาอื่น ๆ อีกหลากหลาย ทำให้ครูแก้วเกือบรับมือไม่ทัน จนได้มารู้จักกับเครื่องมือ GRIs ผ่านการอบรม ซึ่งช่วยเห็นทางออกมากขึ้น
ในช่วงแรกครูแก้วทดลองนำชุดเครื่องมือ GRIs มาจัดกิจกรรมร่วมกับเด็กนักเรียนในหลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็กกลุ่มทั่วไปและเด็กที่มีปัญหาซึมเศร้า ด้วยชุดเครื่องมือ GRIs ถูกออกแบบมาเป็นกระบวนการหลัก 8 ครั้ง ซึ่งในแต่ละครั้งยังประกอบไปด้วยกิจกรรมที่มีความหลากหลายกว่า 26 กิจกรรม จาก 25 เครื่องมือ ในบริบทประจำโรงเรียนจึงสามารถเลือกหยิบใช้บางเครื่องมือ เพิ่มหรือขยายจำนวนครั้งได้ตามความเหมาะสม
ครูแก้วยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือ GRIs สร้างความตระหนักรู้เรื่องจุดแข็งของตัวเองให้แก่นักเรียน ผ่านการจัดกิจกรรม “จุดแข็งของฉัน” โดยให้นักเรียนภายในห้อง 30-40 คน จับกลุ่มและเลือกเหตุการณ์หรือการกระทำในชีวิตที่ทำให้ตัวเองรู้สึกภูมิใจในจุดแข็งของตัวเอง และเล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อฝึกให้นักเรียนเข้าใจและเกิดความภาคภูมิใจตัวเองมากขึ้น รับฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจและสามารถสะท้อนอารมณ์ของตัวเองกับผู้อื่นได้ ครูแก้วเล่าว่าหลังจบกิจกรรมมีนักเรียนสะท้อนความรู้สึกในเชิงบวกอย่างหลากหลาย เช่น
“ได้มองย้อนกลับไปในอดีตทำให้รู้สึกดี และยิ่งได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนทำให้รู้สึกว่ามีคนรับฟังเรื่องราวของเรา ภูมิใจ เพราะไม่มีใครรับฟังมาก่อน เมื่อได้ฟังเรื่องเพื่อนก็ทำให้เปลี่ยนมุมมองไปในแง่บวกมากขึ้น”
“ในฐานะครูที่ทำกิจกรรมกับเด็ก สัมผัสได้ว่านักเรียนมีความใจเย็นลงและไม่ตัดสินคนอื่นเร็วเกินไป ซึ่งครูแก้วมองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก” – ครูแก้ว
ปัจจุบันครูแก้วนำเครื่องมือ GRIs ไปขยายผลผ่านกลไกเครือข่ายของเพื่อนนักเรียน จัดตั้ง ‘กลุ่มแกนนำนักเรียนเพื่อนที่ปรึกษา’ (Youth Counselor) ซึ่งเป็นการร่วมกลุ่มของทั้งเด็กจิตอาสาและเด็กกลุ่มเปราะบางที่อยากช่วยเพื่อนนักเรียนคนอื่น ๆ ช่วยกันสังเกตดูแลสอดส่อง สร้างพื้นที่ปลอดภัยของกันและกัน โดยใช้ชุดเครื่องมือ GRIs เป็นตัวเชื่อม ริเริ่มความสัมพันธ์ เปิดบทสนทนา เรียนรู้อารมณ์เชิงบวก เชิงลบ เพื่อฟื้นฟูความเข็มแข็งภายในและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ
“เครื่องมือ GRIs ช่วยได้ดีในแง่การทำให้เด็กรู้จักคำนิยามอธิบายอารมณ์เชิงบวกและอารมณ์เชิงลบได้ ซึ่งการระบุอารมณ์ของตัวเองได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการจัดการอามรมณ์ของตัวเอง
บทบาทของ GRIs ต่อภาคการศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะเรามีประชากรนักเรียนจำนวนมาก และไม่ควรปล่อยให้เค้าบาดเจ็บจนขั้นร้ายแรง ต้องเน้นเชิงป้องกัน ซึ่งนโยบายมีความสำคัญในการขับเคลื่อนไปในโรงเรียนระดับต่าง ๆ” – ครูแก้ว
เสียงเล็กๆ จากชายแดนแม่สอด ชะตากรรมที่เลือกไม่ได้ของกลุ่มเด็กผู้หนีภัยการสู้รบ
“เด็กทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามเป็นผู้ที่ต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ ทั้งสิทธิที่จะมีชีวิตรอด สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง สิทธิในการพัฒนา และสิทธิในการมีส่วนร่วม” ข้อความนี้ถูกระบุในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ปี พ.ศ.2532 แต่ในพื้นที่ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก กลุ่มเด็กผู้หนีภัยการสู้รบและบุตรหลานแรงงานข้ามชาติยังต้องเผชิญกับปัญหาความเปราะบางซับซ้อนในหลายมิติ
“เด็กและเยาวชนกลุ่มเประบางในพื้นที่แม่สอด คือ กลุ่มเด็กที่มีประสบการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว เคยเดินร้องไห้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกกระทำความรุนแรงและมาขอความช่วยเหลือจากเรา เปราะบางเรื่องสถานนะทางกฎหมาย สถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรมการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ความยากลำบากในการเข้าถึงบริการหรือความคุ้มครองของรัฐ แม้จะเข้าถึงการศึกษาของโรงเรียนรัฐ ก็มักต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านภาษา การถูกล้อเลียน การถูกแบ่งแยก”
คุณนวสร ลิ่มสกุล หรือ ‘พี่เดือน’ Safeguarding Consultant ในองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการศึกษาและการคุ้มครองเด็ก ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ฉายให้เราเห็นภาพปัญหาในพื้นที่อย่างชัดเจนมากขึ้น
นอกจากนี้ พี่เดือนยังเป็นสมาชิกของ ‘สไมล์เลย์คลับ’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเครือข่ายเจ้าหน้าที่คนที่ทำงานด้านเด็ก โดยเอาทักษะองค์ความรู้ที่แต่ละคนมีมาแลกเปลี่ยนทำงานกับเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้โครงการใช้วิธีการสอนตามทักษะประสบกาณ์ที่เจ้าหน้าที่แต่ละคนมี ซึ่งขาดโปรแกรมที่เป็นระบบ รวมถึงเครื่องมือชี้วัดความเปลี่ยนแปลงของเด็ก เมื่อได้ร่วมอบรมการใช้ชุดเครื่องมือ GRIs จึงได้นำมาทำกิจกรรมร่วมกับเด็กกลุ่มเป้าหมายอายุ 15 – 18 ปี เป็นประจำในทุกวันอาทิตย์ จัดเป็นโปรแกรมเรียงลำดับครบทั้ง 8 กระบวนการ
โดยพี่เดือนมองว่าไฮไลท์สำคัญของชุดเครื่องมือ GRIs คือกิจกรรมที่ส่งเสริมการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตัวเอง การหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอและนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ อีกทั้งย้ำว่าในฐานะผู้สังเกตุการณ์ เห็นได้ชัดว่าเด็กมีมุมมองความคิดเปลี่ยนไป ซึ่งเครื่องมือ GRIs ไม่ใช่เครื่องมือการรักษา แต่ช่วยในการพยุงและฟื้นฟูเบื้องต้น ให้เด็กรับรู้ความรู้สึกของตัวเอง เข้าใจวิธีการจัดการอารมณณ์ตัวเอง ช่วยค้นหาจุดแข็งในการประคับประคองชีวิต เปลี่ยนมุมมองต่อเหตุการณ์ที่ต้องเผชิญ และสามารถปรับเปลี่ยนความคิดพฤติกรรมได้
พี่เดือนยกตัวอย่างกระบวนการนำเครื่องมือมาเริ่มทำกิจกรรมช่วงแรกผ่าน “กิจกรรม 5 สิ่งที่ฉันชอบ” ซึ่งจะมีการชวนคุยเพื่อให้เด็กเปิดใจและทำความรู้จักกับทั้งตัวเองและคนอื่นมากขึ้น ผ่านการแนะนำตัวและทบวนว่าตัวเองชอบอะไรบ้าง เช่น เมนูอาหาร ดาราศิลปิน งานอดิเรก อาชีพ สถานที่ เป็นต้น
“อาจดูเป็นการชวนคุยด้วยคำถามง่าย ๆ ธรรมดาทั่วไป แต่ข้อสะท้อนที่ได้จากน้อง ๆ คือ คำถามเหล่านี้ บทสนทนาเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านของเค้าเลย เพราะหลายคนเกิดมาในครอบครัวที่มีสมาชิกจำนวนมาก อยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ที่แออัด เด็กบอกว่าพอหนูจะพูดอะไรกับพ่อแม่ พ่อแม่กลับไม่เคยได้ยินเสียงหนู การชวนคุยด้วยคำถามเหล่านี้จึงสะกิดใจเขามาก
หรือเคสของพี่น้องสองคนที่เข้าร่วมกิจกรรม น้องสาวสะท้อนหลังจบกิจกรรมว่าไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพี่สาวชอบเล่นกีฬาวอลเลย์บอล อยากทำอาชีพ youtuber เพราะภาพที่ตนเห็นมาตลอดคือ พี่สาวทำงานเลี้ยงดูน้องมาตั้งแต่เด็ก จึงเชื่อว่าแค่การชวนคุยด้วยคำถามพื้นฐานทั่วไป อาจเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวได้” – พี่เดือน
GRIs เครื่องมือเชื่อมบทบาทของสังคมในการร่วมแก้ไขความรุนแรงในเด็ก
“เราพบว่าจริงๆ แล้วเรากำลังขาด Solution ในแง่ที่เราอยากให้เด็กได้ฝึกฝนเรียนรู้ แต่เรายังมีเครื่องมือไปสนับสนุนพวกเขาไม่เพียงพอ”
อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ ผู้นำหลักการของจิตวิทยาเชิงบวกมาประยุกต์เป็นนวัตกรรมชุดเครื่องมือ GRIs สะท้อนให้เห็นว่าเด็กทุกคนล้วนมีจุดแข็งและด้านสว่างในตนเอง เพียงแต่บางครั้งสังคมไม่ได้หยิบยื่นพื้นที่ทางโอกาสและเครื่องมือที่เพียงพอ ในฐานะสมาชิกของสังคมเราควรช่วยกันสร้างระบบนิเวศหรือพื้นที่ที่เอื้อให้เด็กหันด้านเหล่านั้นของตัวเองออกมาให้มากที่สุด เครื่องมือ GRIs จึงสามารถเข้ามาตอบโจทย์ของปัญหาดังกล่าวได้
ซึ่งครื่องมือ GRIs สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานกับเด็กได้ ทั้งในแง่ของการป้องกัน (Prevention) การเสริมพลังภายใน (Empowerment) ตลอดจนการพื้นฟู (Rehabilitation) ตั้งแต่ระดับเด็กกับเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน สถานพยาบาล รวมไปถึงพื้นที่ที่ดูแลเด็กกลุ่มเปราะบางหรือเด็กที่มีความเสี่ยงอยู่ในวงจรอาชญากรรมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก ศาลเยาวชนฯ หน่วยงาน NGO และหน่วยงานภายใต้กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เป็นต้น
โดยอรุณฉัตรย้ำเงื่อนไข 2 ประการที่สำคัญที่ต้องทำคู่ขนานกันไป ในการทำให้ความงอกงามในตัวเด็กเกิดขึ้นผ่านเครื่องมือ GRIs คือ 1) การสร้างการรับรู้ว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งปกติที่จะช่วยสนับสนุนให้ทุก ๆ วันของพวกเขาสามารถพัฒนาขึ้นได้ งอกงามกว่าเดิมได้ และ 2) การนำเครื่องมือมาประยุกต์ใช้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง สร้างความสม่ำเสมอที่เป็นปกติ
“ไม่ว่าเราจะเคยตกหลุมดำเรื่องอะไรก็ตามในชีวิต ทั้งอารมณ์ตัวเอง พฤติกรรม หรือเรื่องอะไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่เรายังอยากมีสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่น มีความเข้าใจตัวเอง มีมุมมองต่อโลกว่าวันพรุ่งนี้ฉันจะดีกว่าวันนี้ได้“ – อรุณฉัตร
Sources :