อคติหน้ากำแพง
โดย นภัสสร สหบรรเทิงศิลป์
ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดบทความ
ภายใต้โครงการ BEHIND THE BAR สัมผัสชีวิตหลังกำแพง ปีการศึกษา 2565
จัดโดยชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
หากกล่าวถึงคำว่า “เรือนจำ” ภาพจำของหลายคนมักนึกถึงสถานที่มืดมิด เต็มไปด้วยคนไม่ดีที่กระทำความผิดอันไม่อาจให้อภัย จึงต้องถูกลงโทษให้สาสมกับการกระทำ และตัดขาดคนเหล่านี้ออกจากสังคมก็เป็นไปเพื่อความสงบสุข อย่างไรก็ดีหลังจากที่เราได้มีโอกาสเข้าร่วม ‘โครงการ Behind the Bar สัมผัสชีวิตหลังกำแพง’ ที่เปิดโอกาสให้นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าไปสัมผัสชีวิตของพี่ๆในทัณฑสถานหญิงธนบุรี แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองของเราต่อพี่ๆในเรือนจำไปมาก ซึ่งบทความนี้เราจะมาพาทุกคนไปสำรวจว่าหลังกำแพงสูงที่ตัดขาดพวกเขาออกจากโลกภายนอกมีอะไรอยู่บ้าง และทำให้มุมมองของเราเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด
เริ่มแรกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้พาเราไปหน้าประตูเรือนจำเพื่อตรวจค้นร่างกาย เก็บเครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งที่นำเข้าไปได้มีเพียงสมุดและปากกาเท่านั้น หลังจากผ่านการตรวจค้นร่างกายเพื่อความปลอดภัยและนับจำนวนคนเป็นที่เรียบร้อย ประตูเรือนจำก็ได้เปิดออก สิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือทางเดินของเรือนจำเป็นทางเข้าและทางออกเดียว รอบล้อมไปด้วยกำแพงสูงสีขาวเหมือนเข้าไปอีกโลกหนึ่ง แต่ภาพที่เห็นไม่ใช่ลานกว้างแบบที่จินตนาการไว้ แต่เป็นประตูบานใหญ่อีกบานที่รอเปิดเมื่อประตูบานแรกถูกปิดลง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญว่าเจ้าหน้าที่ประจำประตูเรือนจำมีหน้าที่ต้องตรวจตราช่องประตูให้เป็นที่แน่ใจในความปลอดภัยก่อน ทั้งการเปิดต้องเปิดทีละประตู ห้ามเปิดพร้อมกันทีเดียวสองประตู
เมื่อประตูเปิดออก เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ทยอยพาเราและผู้เข้าร่วมคนอื่นเดินรอบเรือนจำ จุดแรกที่เจ้าหน้าที่ฯ พาไปชมคือการตรวจร่างกายผู้ต้องขังแรกรับ โดยเป็นไปตามระเบียบปกติของเรือนจำในการตรวจสิ่งของต้องห้าม โรคประจำตัว สุขภาพจิต การตั้งครรภ์ เป็นต้น โดยทัณฑสถานหญิงธนบุรีที่เราได้เข้าไปศึกษาดูงานถือเป็นเรือนจำต้นแบบจึงมีการใช้เครื่อง body scan แทนการตรวจค้นร่างกายแบบสัมผัสตัวแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวสร้างขึ้นมาเพื่อปรับปรุงเรือนจำให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานมากขึ้น โดยจะมีการตรวจเพื่อป้องกันและรักษาต่อไป
จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็นำไปยังจุดสูทกรรม หรือห้องครัวเรือนจำ เป็นจุดปรุงอาหารสำหรับผู้ต้องขังที่ทำขึ้นโดยมีฝีมือของพี่ๆผู้ต้องขังเอง อันเป็นการฝึกทักษะอย่างหนึ่งเพื่อประกอบอาชีพ นอกจากสูทกรรมแล้วผู้ต้องขังยังได้ฝึกอาชีพอื่นๆที่มีความหลากหลาย อาทิเช่น ทำขนม นวดแผนไทย ทำนายพยากรณ์อนาคต ตัดผม พับกล่อง และงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ หลายอาชีพที่พบเจอก็ทำให้เราประหลาดใจ เพราะยังติดภาพจำเดิมจากสื่อว่าเรือนจำมีแต่การฝึกอาชีพทำอาหาร เมื่อพ้นโทษออกมาผู้พ้นโทษส่วนมากก็เริ่มต้นประกอบอาชีพที่ต่อยอดจากการทำอาหาร แต่แท้จริงแล้วศูนย์ฝึกอาชีพในเรือนจำพัฒนาและมีความหลากหลายกว่าที่เราเห็นตามสื่อมาก ยิ่งไปกว่านั้น เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ต้องขังมีฝีมือในสิ่งที่ทำอยู่มาก ซึ่งความสามาถและความรู้ขั้นพื้นฐานที่มีอยู่นี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพที่สามารถหาเลี้ยงชีพเมื่อพ้นโทษได้จริง
นอกจากศูนย์ฝึกอาชีพที่ได้เยี่ยมชมมา ภายในเรือนจำยังจัดให้มีการเรียนการสอนแก่ผู้ต้องขัง และห้องสมุดที่ประกอบด้วยหนังสือวิชาการ หนังสืออาหาร หนังสือศาสนา หนังสือพิมพ์ เช่นเดียวกับการเรียนการสอนที่มีทั้งด้านวิชาการ เช่น วิชาบัญชี สุขศึกษา และคอมพิวเตอร์ หรือการเรียนในระดับอุดมศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ผู้ต้องมีสิทธิเลือกลงทะเบียนเรียนโดยใช้ทุนทรัพย์ของผู้ต้องขังเอง
เนื่องจากในปัจจุบัน เรือนจำหญิงในประเทศไทยได้รับข้อกำหนดกรุงเทพฯ มาใช้บังคับเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศขั้นพื้นฐาน โดยกำหนดแนวทางในการบริหารจัดการเรือนจำใหม่ กล่าวคือนอกจากมุ่งควบคุมผู้ต้องขังไม่ให้หลบหนีแล้ว ยังมุ่งดูแล ป้องกัน คุ้มครอง และพัฒนาชีวิตเพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถกลับไปใช้ชีวิตนอกเรือนจำอย่างคนปกติทั่วไปหลังจากครบกำหนดโทษ ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์ฝึกอาชีพที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่ามีการจัดให้ผู้ต้องขังทดลองศึกษาเรียนรู้กระบวนการและฝึกงานกับบริษัทที่ทางเรือนจำจัดหาไว้ให้อีกด้วย มาตรการจากภาครัฐดังกล่าวจึงช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย
อย่างไรก็ดีประเทศไทยยังพบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำสูงมาก แม้จะมีการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอย่างเป็นระบบแล้ว โดยสาเหตุประการแรกคือ การแก้ไขฟื้นฟูยังขาดความหลากหลายทางอาชีพและทรัพยากรสำหรับการเรียนการสอนผู้ต้องขังยังมีจำกัด ซึ่งอาจแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มความหลากหลายทางอาชีพ และมีมาตรการขอความสนับสนุนการศึกษาจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เช่นนี้แล้วการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขังย่อมปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับสังคมที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วได้
ทั้งนี้นอกจากปัญหาที่ทางเรือนจำต้องแก้ไขปรับปรุง ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการที่สังคมตีตราผู้ต้องขังว่าไม่สามารถกลับมาเป็นคนดีได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะแสดงออกผ่านการไม่ไว้วางใจ การเลือกปฏิบัติ การไม่ยอมรับเข้าทำงานเพราะมีประวัติอาชญากรรม อคติของสังคมที่ผลักผู้พ้นโทษที่กำลังเริ่มต้นชีวิตใหม่ส่งผลให้พวกเขาต้องกลับสู่สภาพแวดล้อมเดิมที่เอื้ออำนวยต่อการกระทำความผิด และเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นในการประกอบอาชีพ หลายคนอาจกลับไปกระทำความผิดอีกเพื่อหาเลี้ยงชีพ จนต้องกลับสู่เรือนจำอีกครั้ง
เพราะอคติของมนุษย์ยากที่จะกำจัด แม้กระทั่งตัวเราเองที่เป็นนักศึกษากฎหมายและศึกษางานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสังคมเป็นประจำ และเชื่อว่าเราวางตัวด้วยใจที่กลางแล้ว แต่คงเพราะความเป็นนักศึกษากฎหมายนี่แหละ ทำให้ในหลายครั้งเราก็มักจะตัดสินพฤติกรรมจากการกระทำของเขา จนบางครั้งอาจเกิดอคติขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อเราได้เข้าไปสัมผัสชีวิตของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ เราได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่กำลังใช้ชีวิตเหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่การใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากโลกภายนอก
หากมองโดยรวมแล้ว “เรือนจำหญิง” ก็มีความคล้ายคลึงกับโรงเรียนประจำ เพราะเป็นสถานที่ปิดเหมือนกัน และมีระบบให้ผู้ที่อาศัยในนั้นสามารถดำเนินชีวิตไปพร้อมๆกับการพัฒนาตรเองก่อนไปใช้ชีวิตในสังคม แต่ต่างในส่วนที่ผู้ต้องขังต้องชดใช้ความผิดที่เคยทำในอดีต และขัดเกลาตนเองให้เป็นคนที่ดีขึ้นจากเดิม แน่นอนว่าผู้ที่เข้ามาเป็นผู้ต้องขังมีคนกระทำความผิดจริง แต่หลายๆคนในนั้นก็เกิดจากการเลือกเส้นทางในชีวิตพลาดไปเพราะความจำเป็นในชีวิตหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขากระทำความผิด เมื่อเขาสำนึกได้จากใจจริง ตั้งใจและพร้อมที่จะปรับปรุงตนเอง คงจะดีกว่าถ้าสังคมลองเปิดใจและให้โอกาสเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ให้ได้กลับคืนสู่โลกใบเดียวกันโดยปราศจากการกีดกัน