ภาพจำหลังกำแพง
โดย พัชรพร หนิดภักดี
ผู้ได้รับได้รับรางวัลรองชนะเลิศการประกวดบทความ
ภายใต้โครงการ BEHIND THE BAR สัมผัสชีวิตหลังกำแพง ปีการศึกษา 2565
จัดโดยชมรมนิติสังคมปริทรรศน์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
หากถามว่าเรือนจำเป็นอย่างไร หลายๆคนคงจะมีภาพของเรือนจำตามแบบในหนังหรือละครที่เราเคยเห็นกัน ตัวผู้เขียนก็เช่นกัน เพราะภาพแรกที่เข้ามาในความคิด คือ ภาพของห้องขัง ที่มีผู้ต้องขังเบียดเสียด อยู่กันอย่างกดดัน ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ ด้วยเหตุที่ต้องมาอยู่ร่วมกับกลุ่มคนแปลกหน้า ที่ในใจเต็มไปด้วยพันล้านความคิดและความรู้สึก ในขนาดพื้นที่ที่แต่ละคนมีที่นอนเพียงเท่าแมวดิ้นตาย อาจจะฟังดูเลวร้าย และคงจะเลวร้ายยิ่งกว่าถ้าความจริงเป็นอย่างภาพในหัว แล้วชีวิตหลังปราการสูงใหญ่นั้น จริงๆแล้วเป็นอย่างไร กันแน่นะ ?
และแล้วผู้เขียนก็ได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสชีวิตหลังกำแพง โดยไปที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี ซึ่งเป็น1ในเรือนจำต้นแบบ ผ่านกิจกรรมของชมรมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ วันนั้นมีความรู้สึกมากมายเกิดขึ้น ทั้งรู้สึกประหม่า ทั้งรู้สึกหวั่นใจอย่างบอกไม่ถูก พอหลังจากผ่านเข้าประตูขนาดใหญ่เข้าไปแล้ว ภาพที่อยู่ตรงหน้ากลับต่างไปจากภาพในหัวเป็นอย่างมาก สถานที่แห่งนี้คล้ายกับโรงเรียนฝึกอาชีพ พี่ๆที่อยู่ข้างในมีกิจกรรมให้ทำมากมาย อย่างทำอาหาร เพ้นท์กระเป๋า และยังมีคลินิก ห้องสมุด มินิมาร์ท อีกด้วย
ด้วยสถานที่ที่ดูสะอาด การดำเนินการภายในที่เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ ทำให้มุมมองเรือนจำของผู้เขียนเปลี่ยนไปโดยพลัน พี่ๆข้างในมีกิจกรรมทำไม่ให้เบื่อ และก็ดูจะชอบในกิจกรรมที่ตนเองกำลังทำจริงๆ ซึ่งก็คงเป็นกิจกรรมเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เวลาของโลกหลังกำแพงแห่งนี้หมุนไวขึ้น
หลังจากที่ได้ใช้เวลาทั้งช่วงเช้าไปกับการสำรวจทัณฑสถานและพูดคุยกับพี่ๆที่นั้น ก็เกิดความคิดขึ้นมา ซึ่งตัวผู้เขียนก็ทราบดีว่าทุกเรือนจำนั้นไม่มีทางเหมือนกัน การที่จะทำให้ทุกเรือนจำมีคุณภาพเหมือนทัณฑสถานแห่งนี้อาจจะทำได้ยาก คงจะมีเรือนจำในประเทศจำนวนไม่น้อยเลย ที่ภายในไม่ได้สะอาด ไม่ได้มีกิจกรรมให้ทำหรือมีพื้นที่กว้างพอให้ อย่างเช่นที่ที่ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัส หรืออาจจะโหดร้ายเหมือนในหนังที่เราดูก็เป็นได้
ถ้าหากถามถึงความคาดหวังของผู้เขียน ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังให้เรือนจำสะดวกสบายดั่งเช่นโรงแรม ผู้เขียนยังคงคำนึงถึงจุดประสงค์ของการมีอยู่ของเรือนจำอยู่เสมอ เพียงแต่อยากให้เรือนจำทุกเรือนจำ นึกถึงความเป็นมนุษย์มากขึ้น ควรที่จะมีสิทธิพื้นฐาน เช่น มีอาหารที่มีสารอาหาร การจัดให้ทำกิจกรรมบ้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยรักษาจิตใจของมนุษย์อย่างเราๆแล้ว ยังเป็นการสร้างอาชีพให้กับผู้ต้องขังเพื่อที่ว่าเมื่อพ้นโทษออกไป จะได้มีโอกาสที่จะสร้างชีวิตใหม่ที่สดใสของตัวเอง
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีมุมมองในเรื่องมาตรการการลงโทษของประเทศไทย โดยเห็นว่าการลงโทษบางอย่างมีความไม่สมเหตุสมผล บางฐานความผิดมีอัตราโทษจำคุกที่มากเกินไป บางฐานความผิดซึ่งเป็นความผิดที่สามารถลงโทษด้วยวิธีอื่นได้ แต่กฎหมายกลับผลักภาระมาที่การจำคุกหมด ซึ่งบางคนก็คงจะมองออกว่าจะเกิดปัญหาอะไรตามมา ใช่แล้วค่ะปัญหานักโทษล้นคุก ที่จะนำมาสู่ปัญหามากมายภายในโลกหลังกำแพงนั้นเอง โดยผู้เขียนในฐานะนักเรียนกฎหมายในตอนนี้ ก็คงทำได้เพียงแต่เป็นหนึ่งในกระบอกเสียง และมีความหวังว่าจะมีการปรับกฎหมายในอนาคต ซึ่งอาจจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้
ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่มีค่าสำหรับตัวผู้เขียนมาก จนไม่อยากที่จะลืม แต่แน่นอน ความทรงจำอาจเลือนรางตามการเวลา ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนชิ้นนี้ จะเป็นบันทึกที่จะช่วยกักเก็บความทรงจำของผู้เขียนไว้ และบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตหลังกำแพงใหญ่สีขาวนั้นให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยหวังว่าจะช่วยจุดประกายอะไรบางอย่างในใจผู้คน ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคตได้นั้นเอง