การวัดผลกระทบทางสังคม
ตอนที่ 1: สิ่งชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
คุณค่าอะไรที่เราได้ส่งมอบให้กับสังคม ? คำถามในทำนองนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในแวดวงของการทำงานเพื่อพัฒนาสังคม จนกล่าวได้ว่าแนวคิดการวัดผลกระทบทางสังคม (Social impact assessment) ได้กลายเป็นเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จและความคุ้มค่าของโครงการกันอย่างถ้วนหน้า
การวัดผลกระทบทางสังคม เป็นกระบวนการวัดและประเมินผลการดำเนินการหนึ่งว่าสามารถส่งมอบคุณค่าหรือผลสัมฤทธิ์ให้เกิดขึ้นต่อสังคมได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ในบางทฤษฎีมองว่าผลกระทบเช่นว่านั้นหมายถึงคุณค่าหรือผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรวัตถุประสงค์ของของการวัดผลกระทบดังกล่าว คือเพื่อใช้ในการทบทวนและพัฒนาโครงการให้บรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย และเพื่อใช้เป็นข้อมูลในสื่อสารและนำเสนอไปยังภายนอกที่มีความหนักแน่นและเป็นรูปธรรม
สำนักนวัตกรรมเพื่อความยุติธรรม สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ไม่ได้มองเพียงว่าการวัดผลกระทบทางสังคมคือการค้นหาคำตอบเพื่อที่จะไปตอบคำถามที่ถูกกำหนดขึ้น หรือเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สำนักฯ มองว่าเป็นสิ่งยืนยันและย้ำเตือนว่าโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ได้มุ่งไปสู่เป้าหมายปลายทางที่คาดหวังไว้ หรือปัญหาที่อยากจะแก้ไขจริง ๆ แล้วหรือไม่
จากการศึกษาแนวคิด และทฤษฎีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่า จุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเริ่มต้นวัดผลกระทบของโครงการ คือการตกผลึกร่วมกันระหว่างผู้ก่อตั้งโครงการว่าอะไรคือเป้าหมายของโครงการ เนื่องจากเป้าหมายจะเป็นเกณฑ์ในการชี้วัดและเป็นสิ่งที่ถูกจะถูกนำไปออกแบบในเชิงถอยหลัง (Backward) กล่าวคือ 1) เป้าหมายคืออะไร 2) กระบวนการเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายนั้น 3) ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินกระบวนการดังกล่าว และโดยทั่วไปแล้วเป้าหมายนั้นมักเชื่อมโยงจากปัญหาที่อยากแก้ไข
กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนคือ โครงการ White space platform หรือการสร้างพื้นที่สีขาวให้เด็กและเยาวชนก้าวเข้ามาเรียนรู้ และค้นหาความสนใจของตนเอง ซึ่งเริ่มต้นจากปัญหาที่ว่าเด็กและเยาวชนไทยจำนวนมากตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยแก่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการ การเรียนรู้ การเติบโต ตลอดจนทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ รวมทั้งทัศนคติหรือพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต จากปัญหาดังกล่าว สิ่งที่ต้องการเห็น คือ “เด็กและเยาวชนสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนค้นพบความถนัดและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองได้” โดยหลังจากนั้นคือการออกแบบกระบวนให้ไปสู่เป้าหมายนั้นได้ และนั้นคือปฐมบทของการเกิดขึ้นของโครงการ White space platform ที่ตั้งสมมุติฐานว่า การที่เด็กมีพื้นที่สีขาวอยู่จะช่วยให้เด็กสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ ตลอดจนค้นพบความถนัดและเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของตนเองได้ อนึ่ง โครงการนี้อยู่ระหว่างการออกแบบการวัดผลกระทบทางสังคม