Mysis Bot
Chatbot ที่เป็นดั่ง ‘พี่สาว’ ช่วยเหลือผู้เผชิญกับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ
- Mysis bot คือ เทคโนโลยีแชทบอทที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้ประสบปัญหากับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ (gender-based violence) หรือความรุนแรงภายในครอบครัว (domestic violence)
- ดำเนินการภายใต้แนวคิดที่มีผู้ประสบเหตุเป็นศูนย์กลาง ผ่านกลไกหลักในการให้คำปรึกษาและคำแนะนำเพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญประกอบการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกในการเข้าสู่ชั้นกระบวนการยุติธรรมและติดตามผล ตลอดจนเชื่อมโยงการทำงานของทีมสหวิชาชีพและองค์กรภาคประชาสังคมในการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ประสบปัญหากับความรุนแรง
ที่มาและความสำคัญ (Problem & Concept)
ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราความรุนแรงทางร่างกายและ/หรือทางเพศโดยคู่ครองในช่วงชีวิตสูงที่สุดในภูมิภาคในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวตั้งแต่ปี 2559-2563 มีแนวโน้มสูงขึ้นคิดเป็น 1,400 รายต่อปี ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กและผู้หญิง ซึ่ง 77 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกกระทำไม่กล้าขอความช่วยเหลือ และกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้พบเห็นก็ไม่กล้าให้ความช่วยเหลือ อีกทั้งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ตัวเลขความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 คำถามสำคัญคือตัวเลขของความรุนแรงที่ไม่ได้รับการรายงานมีจำนวนอีกเท่าไหร่? แล้วเมื่อไหร่ที่เราทุกคนจะตระหนักว่าปัญหาความรุนแรงในครอบครัวคือ “ปัญหาสังคม” ไม่ใช่เพียงปัญหาภายในของบ้านใครบ้านมันอีกต่อไป
โครงการ Mysis แชทบอท จึงเป็นเทคโนโลยีที่ถูกออกแบบมาด้วยหลักการสำคัญในการช่วยให้ผู้ประสบปัญหากับความรุนแรงเข้าถึงกระบวนการทางยุติธรรมมากขึ้น เปรียบเสมือนชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดการกับปัญหาความรุนแรงทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ ผ่านการวางตัวเป็นดั่งพี่สาวและสามารถให้คำปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง บนแพล็ตฟอร์ม Facebook Messenger ในเพจ “มายซิส My Sis Bot” และมุ่งพัฒนาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่าง ๆ ทำงานเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อป้องกันการเกิดเหตุ ให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองผู้ประสบปัญหากับความรุนแรงอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Project Snapshots
เป้าหมาย:
ส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรมแก่ผู้ประสบปัญหากับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ
ประเภท (Category/Type of project):
Innovation for Elimination of Violence against Women and Children
ระยะเวลา:
ตุลาคม 2019 – ปัจจุบัน
สถานะ:
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อพัฒนาโครงการเป็นระยะที่ 3
ผู้ร่วมดำเนินงาน:
- สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)
- ChangeFusio
- OpenDream
- DTAC
- องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย (UNICEF)
- มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล

เป้าหมายโครงการ
- ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงได้รับคำปรึกษาและคำแนะนำอย่างสะดวกมากขึ้น สามารถนำไปแก้ไขหรือบรรเทาสถานการณ์ปัญหาที่พบได้ดีขึ้น
- ผู้ประสบปัญหาความรุนแรงได้รับการช่วยเหลือแบบทันท่วงที รวมทั้งสามารถติดตามความคืบหน้าได้อย่างต่อเนื่อง
- เจ้าหน้าที่รัฐ ทีมสหวิชาชีพ และองค์กรภาคประชาสังคมสามารถให้ความช่วยเหลือ คุ้มครอง บริหารจัดการ หรือดำเนินการทางกฎหมายได้ดีขึ้น
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้ประสบปัญหาสามารถได้รับคำปรึกษา ความเห็นทางกฎหมาย การช่วยเหลือทั้งด้านกฎหมายและข้อมูลด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อเป็นหนึ่งในช่องทางในการรับแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการตามกฎหมาย
- เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมสหวิชาชีพและองค์กรภาคประชาสังคมในการช่วยเหลือ ปกป้อง และคุ้มครองผู้ประสบปัญหา
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้ประสบปัญหากับความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพที่ต้องการคำแนะนำ คำปรึกษา ข้อมูลด้านกฎหมายและความช่วยเหลือ
- บุคคลทั่วไปที่ต้องการรับข้อมูลและแจ้งเบาะแสเมื่อเจอปัญหาความรุนแรง
แนวทางการทำงานของ Mysis

ผลการดำเนินการที่ผ่านมา
- นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อตุลาคม 2562 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีผู้ใช้งานมากกว่า 5,000 คน
- มีคดีที่ได้รับรายงาน จำนวน 38 คดี และสามารถจับกุมผู้ต้องหาแล้ว 3 คดี
- เพจ มายซิส Mysis Bot ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มียอดกด Liked จำนวน 8,758 คน และมียอดผู้ติดตามจำนวน 8,841 คน

ภาพตัวอย่างการส่งข้อความทาง Messenger ใน Facebook Fan Page